การเปิดตัว “e-Extension” การขออนุญาตอยู่ต่อประเทศไทย ระบบออนไลน์ ลดเวลา ขั้นตอนเพียง 3 นาที หลังการทดลองเปิดบริการ พื้นที่ กทม. ตั้งแต่ 10 ต.ค. คนแห่ใช้บริการ พบประสิทธิภาพคัดกรองเพิ่มขึ้น ตั้งเป้าขยายบริการทั่วประเทศ

วันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พร้อมด้วยพล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รองผบ.ตร. พล.ต.ท.ภาคภูมิภิภัทฒ์ สัจจพันธุ์ ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เปิดตัวระบบการขออนุญาตเพื่ออยู่ต่อในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ “e-Extension” เป็นครั้งแรกของประเทศไทย

โครงการนี้เป็นดำริของพล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่ต้องการพัฒนาระบบการให้บริการแก่ประชาชนเพิ่มความสะดวกแก่ผู้มารับบริการด้วยเทคโนโลยีผ่านระบบดิจิตอล สอดคล้องกับแนวทางในการพัฒนาให้เข้าสู่การเป็นภาครัฐทันสมัย และพล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จึงได้สานต่อการดำเนินงานดังกล่าวให้สำเร็จลุล่วง

การให้บริการขออนุญาตอยู่ต่อในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (e – Extension) ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติและสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เป็นการยกระดับและสร้างมาตรฐานการให้บริการคนต่างด้าวรูปแบบใหม่ด้วยการยื่นคำร้องขออนุญาตอยู่ต่อในราชอาณาจักรและชำระเงินค่าธรรมเนียมทางอิเล็กทรอนิกส์

ระบบดังกล่าวเป็นการนำร่องการขออยู่ต่อในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สำหรับคนต่างด้าวที่มีถิ่นพำนักอยู่ในกรุงเทพฯ หรือมีสถานที่ทำงานของรัฐในเขตกรุงเทพ ฯ ซึ่งได้เปิดให้บริการในส่วนของเหตุผลหรือความจำเป็น ในการขออยู่ต่อฯ จำนวน 12 เหตุผล ดังนี้ 1.เพื่อการท่องเที่ยว, 2.ครูในสถานศึกษาของรัฐ, 3.ศึกษาในสถานศึกษาของรัฐ, 4.อยู่ปฏิบัติงานในส่วนราชการ, 5.เดิมคนไทย, 6.ครอบครัวผู้มีถิ่นที่อยู่, 7.สื่อมวลชน, 8.ฝึกสอน ค้นคว้าวิจัยในหน่วยงานของรัฐ, 9.ติดตั้งซ่อมแซมเครื่องจักร, 10.ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์, 11.ผู้ควบคุมพาหนะประจำพาหนะ และ 12.สถานทูตให้การรับรองและร้องขอ

“เนื่องจากในแต่ละปี ประเทศไทยมีคนต่างด้าวยื่นขออนุญาตอยู่ต่อในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว เฉพาะในส่วนของเหตุผลหรือความจำเป็น 12 เหตุผลดังกล่าว มากกว่า 2 แสนคนต่อปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งในพื้นที่กรุงเทพ ฯ มีผู้มาขอรับบริการเป็นจำนวนมาก ทำให้คนต่างด้าวใช้เวลาค่อนข้างนานในการขอรับบริการแต่ละครั้งโดยเฉลี่ยต้องใช้เวลารอเข้ารับบริการประมาณ 1 – 2 ชั่วโมง”

ในกรณีคนต่างด้าวเปลี่ยนมาขอรับบริการผ่านระบบ“e – Extension” (Electronics Extension of Temporary Stay in The Kingdom : e – Extension) คนต่างด้าวสามารถดำเนินการกรอกข้อมูลได้ด้วยตนเองตลอดเวลา ผ่านระบบออนไลน์บนอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือ หรือ คอมพิวเตอร์ผ่านเว็บไซต์ และเข้ามาพบเจ้าหน้าที่เพื่อยืนยันตัวบุคคลและรับสติ๊กเกอร์วีซ่าโดยใช้เวลาไม่เกิน 3 นาทีเท่านั้น

โครงการดังกล่าวลดขั้นตอนและระยะเวลาในการดำเนินการ ทำให้คนต่างด้าวสามารถกำหนดนัดหมายวันเวลาขอรับสติ๊กเกอร์วีซ่าได้ด้วยตนเอง นับเป็นมิติใหม่ของการยื่นขออนุญาตอยู่ต่อในประเทศไทย บริการ “e – Extension” ได้มีการทดลองระบบโดยเปิดให้คนต่างด้าวขอรับบริการ ตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม ที่ผ่านมา มีคนต่างด้าวให้ความสนใจและเข้ามาทดลองใช้งานผ่านระบบเป็นจำนวนมาก ซึ่งระบบสามารถใช้งานได้เป็นอย่างดีจนได้รับความพึงพอใจจากผู้มารับบริการและมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น

Tags