พลตำรวจโท สมพงษ์ ชิงดวง ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะหัวหน้าอำนวยการด้านประชาสัมพันธ์ ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ PCT เปิดเผยว่า มีประชาชน
แจ้งความคดีออนไลน์ของศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ ผ่านเว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com
ในส่วนของคดีออนไลน์จำนวนมาก ซึ่ง 5 อันดับแรก คือ
1. หลวงลวงซื้อขายสินค้า
2. หลอกให้โอนเงินเพื่อหารายได้จากการทำกิจกรรม
3. หลอกให้กู้เงินแต่ไม่ได้เงิน
4. หลอกให้ลงทุนออนไลน์รูปแบบต่างๆ
5. แก๊งคอลเซ็นเตอร์
สำหรับตัวอย่างของพฤติกรรมของคดี “หลอกลวงซื้อขายสินค้า” นั้น พบว่าสินค้ายอดซื้อขายผ่านโซเชียลมากที่สุดคือ หลอกขายโทรศัพท์ หลอกขายแท่งไฟศิลปินเกาหลี หลอกขายอัลบั้มเพลงเกาหลี หลอกขายนมผง และหลอกขายน้ำหอม
โดยข้อสังเกตที่ควรรู้ คือ
สังเกตสัญลักษณ์ยืนยันตัวตน จะขึ้นเครื่องหมาย “ถูก” สีฟ้า ด้านหลังชื่อเพจ
สังเกตดูยอดไลค์ ถ้ามีน้อยหรือไม่มีรีวิว อาจจะไม่มีความน่าเชื่อถือ อย่าซื้อ
สังเกตดูรายละเอียดที่เมนูความโปร่งใสของเพจ เช่น ดูหมวด ประวัติการสร้างเพจ ถ้าเพจเพิ่งสร้างเร็วๆนี้ มีความเป็นไปได้สูงเป็นเพจหลอกลวง ดูหมวด คนที่จัดการเพจนี้ หัวข้อประเทศ/ภูมิภาคหลักของผู้ที่จัดการเพจนี้ ส่วนใหญ่จะอยู่ต่างประเทศ และดูประวัติการเปลี่ยนชื่อเพจ จะเปลี่ยนชื่อเพจเรื่อยๆ
ส่วนพฤติกรรมของมิจฉาชีพออนไลน์ คดีที่ติดอันดับ 2 คือคดี “หลอกให้โอนเงินเพื่อหารายได้จากการทำกิจกรรม” กิจกรรมที่หลอกให้ทำมากที่สุด โดยสื่อออนไลน์ที่คนร้ายประกาศ/โฆษณามากที่สุด คือ Google ,Facebook , Tiktok คือ ให้ซื้อสินค้าทำสต๊อก ,ให้กดไลค์/กดแชร์/ดูคลิป , ปั่นยอดซื้อสินค้า สำหรับรูปแบบการหลอกให้ซื้อสินค้าทำสต๊อก คือซื้อสินค้าเข้าสต๊อกโดยไม่ต้องทำสต๊อกสินค้าจริง คนร้ายอ้างให้นำไปขายต่อ ทำกำไรได้ 20-50 % โดยคนร้ายจะให้ซื้อ-ขายหลายครั้งจึงจะถอนเงินต้นได้